ศธ.ขอ ครม.ไฟเขียว อนุมัติ พ.ร.บ.วิทยาลัยชุมชน ห้ามปฏิเสธ ไม่รับ นร.ยากจน ขาดทุนทรัพย์






 วันที่ 26 พ.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม ครม.วันที่ 28 พ.ค. กระทรวงศึกษาธิการขอความเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติสถาบันวิทยาลัยชุมชน พ.ศ. ....ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มีดังนี้ 1. กำหนดให้สถาบันเป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบ ประมาณ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญาโดยวิทยาลัยชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่นและชุมชน ตอบสนองและสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นและชุมชน

2. กำหนดให้สถาบันแบ่งส่วนราชการออกเป็น สำนักงานสถาบันวิทยาลัย ส่วนราชการอื่นๆ และให้การจัดตั้ง การรวม การโอนหรือการยุบเลิกวิทยาลัยหรือส่วนราชการอื่นจัดทำเป็นกฎกระทรวง เว้นแต่การแบ่งราชการภายในให้ทำเป็นประกาศสถาบัน

3. กำหนดให้สถาบันมีรายได้นอกจากเงินที่กำหนดไว้ในงบประมาณแผ่นดิน ได้แก่ เงินผลประโยชน์ ค่าธรรมเนียม เบี้ยปรับ ค่าปรับ และค่าบริการต่างๆ ของสถาบันเงินอุดหนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเงินอุดหนุนอื่นที่ สถาบันได้รับเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการของสถาบัน เงินและทรัพย์สินซึ่งมีผู้อุทิศให้ เป็นต้น และให้รายได้ของมหาวิทยาลัยไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตาม กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

4. กำหนดให้มีสภาสถาบัน ประกอบด้วยนายกสภาสถาบัน กรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการซึ่งเลือกจากผู้แทนภาคเอกชน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กำหนดคุณสมบัติหลักเกณฑ์ วิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งนายกสภาสถาบันและกรรมการผู้ทรง คุณวุฒิและภาคเอกชนเป็นไปตามที่กำหนด และให้สภาสถาบันมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด

5. กำหนดให้มีสภาวิชาการ สภาวิทยาลัย และคณะกรรมการส่งเสริมกิจการวิทยาลัย โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด และให้จำนวน คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง ตลอดจนการประชุมเป็นไปตามที่กำหนด

6. กำหนดให้มีผู้อำนวยการสถาบันเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบการบริหารงาน ของสถาบัน กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหา วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบัน และให้ผู้อำนวยการมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด

7. กำหนดให้วิทยาลัยซึ่งเป็นส่วนราชการในสถาบันมีหน้าที่จัดการศึกษาในระดับ อุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญา และฝึกอบรมด้านวิชาการหรือด้านวิชาชีพ และให้วิทยาลัยบริหารและจัดการศึกษาบนพื้นฐานของการประสานความร่วมมือ ระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน ตลอดจนการระดมทรัพยากรและการสนับสนุน

8. กำหนดห้ามมิให้วิทยาลัยปฏิเสธการรับบุคคลเข้าศึกษาในวิทยาลัยหรือยุติ หรือชะลอการศึกษาของนักศึกษาด้วยเหตุเพียงว่าผู้นั้นขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อ จ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษา สำหรับหลักเกณฑ์การพิจารณาว่านักศึกษาผู้ใดเป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้เป็น ไปตามระเบียบที่สภาสถาบันกำหนด

9. กำหนดให้มีผู้อำนวยการวิทยาลัย ซึ่งแต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติตามที่กำหนด หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาเป็นไปตามข้อบังคับของสถาบัน วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และให้ผู้อำนวยการมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด

10. กำหนดบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการโอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณฯ การโอนบรรดาข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการ การดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและกรรมการต่างๆ การได้รับอนุปริญญาและประกาศนียบัตร ตลอดจนกฎกระทรวง กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่มีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ.

 
 
ที่มา ไทยรัฐ วันที่ 27 พฤษภาคม 2556   โดย http://www.krukorsornor.com

1 ความคิดเห็น:

Srey True กล่าวว่า...


ฉันตกลงกับการตัดสินของศาล

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นจาก Facebook